News

คนไทยทำถึง!!! ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจาก “แกลบและขยะโซลาร์เซลล์”

EV Plaza | April 9, 2024

ประเทศไทยมีธุรกิจที่เริ่มหันมาผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และยังมีการคิดค้นแนวทางในการผลิตแบตฯรูปแบบใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่น่าสนใจมากๆเลยคือ การนำของเหลือใช้ที่มีจำนวนมากอยู่ในประเทศไทยอย่าง “แกลบและขยะโซลาร์เซลล์” มาใช้เป็นวัสดุผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ จากรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 จากสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนึ่งในหน่วยงานผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมไทย

เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโลกมากๆเพราะไม่คิดว่าของเหลือใช้เหล่านี้จะนำมาผลิตเป็นแบตฯได้ 

ผลงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์ ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับแรงสนับสนุนมาจากความต้องการที่จะเปลี่ยนของเหลือใช้อย่างแกลบ และขยะโซลาร์เซลล์ให้เป็นวัสดุขั้วไฟฟ้าที่มีชื่อว่า “นาโนซิลิกอน” 

เนื่องจากประเทศไทยเราไม่มีกระบวนการนำโซลาร์เซลล์ที่เสียหายแล้วมารีไซเคิลเป็นแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ หรือผลิตเป็นอย่างอื่น เพราะว่าต้นทุนสูงไม่คุ้มที่จะลงทุน ที่ผ่านมาจึงกำจัดด้วยการทิ้งในหลุมฝังกลบและเมื่อฝนตก น้ำท่วม สารเคมีที่อยู่ในนั้นจะส่งผลที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม 

อาจจะสงสัยว่าประเทศไทยสามารถหาซิลิกอนจากแหล่งไหนได้บ้าง จะเห็นได้ว่าไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม มีการใช้โซลาร์เซลล์ในหลายพื้นที่ ซึ่งโซลาร์เซลล์ 1 แผงมีซิลิกอนประมาณ 1 กิโลกรัม ส่วนแกลบถือว่าเป็นพืชที่มีส่วนผสมของซิลิกอนสูงที่สุดในบรรดาพืชทั้งหมดที่เรามี 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาขึ้นจะเป็นการสกัดวัสดุที่ชื่อว่า “นาโนซิลิกอน” จากแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ผลิตเป็นขั้วลบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งการเอาแกลบมาทำเป็นนาโนซิลิกอนจะใช้อุณหภูมิในการเผาต่ำกว่า 600 – 700 องศาเซลเซียส

“นาโนซิลิกอน” จากแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ ได้ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุขั้วลบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่รองรับการทำงานได้หลากหลาย ทั้งอุปกรณ์พกพา การเดินทางและขนส่ง และกลุ่มกักเก็บพลังงาน ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีซิลิกอนเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตจะมีจุดเด่นตรงน้ำหนักเบา และเก็บพลังงานความจุไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจึงทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะการขับเคลื่อนไกลกว่าเดิม ลดโอกาสระเบิด ปลอดภัยกว่าวัสดุที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า 

โดยผลิตภัณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้นได้ผลิตและจำหน่ายจะมีทั้งแบตเตอรี่แพ็กสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถกอล์ฟไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโซล่าร์เซลล์ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่นิยมใช้นาโนซิลิกอนเป็นส่วนประกอบ เช่น พาวเวอร์แบงค์ นอกจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ไทยเรายังมีวัสดุประเภทโซเดียมที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของประเทศในระยะยาวได้ 

การที่ประเทศไทยเราสามารถหาวัสดุมาผลิตแบตเตอรี่ได้เองทั้งขั้วบวกและขั้วลบ นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ยังถือว่าช่วยสร้างมูลค่าให้วัสดุของไทยในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ แถมยังสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลก 

ถือเป็นตัวเลือกที่ควรได้รับการพัฒนามากๆ…

เรียบเรียง : ทะเลทราย

ข้อมูล ภาพ : www.mcot.net

COMPARISON
0
COMPARISON >>
Compare now
GO
Compare
Recent View
Recent View >>
Empty
Recent View